สนับสนุน

วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การวางแผนการจัดนิทรรศการ


     การสื่อสารไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด จะได้ผลดีหรือไม่ ต้องอาศัยการวิเคราะห์ประชากรเป้าหมาย อย่างรอบคอบ ให้สอดคล้องกับหลักจิตวิทยาของการรับรู้ และหลักจิตวิทยาทางสังคมของกลุ่ม ผู้รับสาร ซึ่งมีอยู่ต่างกัน การวางแผนสำหรับนิทรรศการจะต้องออกแบบให้ผู้ชมที่เป็นเป้าหมายรับรู้ได้ถูกต้องและสอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึก และความต้องการของผู้ชม จึงจะได้ผลดี ดังนั้นการวางแผนนิทรรศการ จึงต้องคำนึงถึง ผู้ชมเป็น
       หลักสำคัญที่สุดอันดับแรกของการวางแผนนิทรรศการ จะต้องคำนึงถึงส่วนประกอบของผู้ชมและทัศนคติ จะเป็นเครื่องพิจารณา คุณสมบัติ คุณภาพ
  ขนาด   ระยะเวลา   การแสดง   การจัด และการนำเสนอว่าควรจะเป็นอย่างไร นิทรรศการที่ดีจะต้องพิจารณาหลายทาง ความสำเร็จของนิทรรศการมิได้อยู่ที่จำนวนผู้ชม นิทรรศการที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็นงานที่มีคนดูมากที่สุด แต่อยู่ที่นิทรรศการนั้น สามารถถ่ายทอดความรู้สึก เร่งเร้า ให้ความรู้ ความบันเทิงใจแก่ผู้ชมได้มากที่สุดหรือไม่
 การวางแผนเกี่ยวกับเรื่องและเนื้อหา                                                                                                                                                                   นิทรรศการสามารจัดได้แทบทุกเรื่อง โดยจะต้องคำนึง ถึงสิ่งต่างๆ ดังนี้
       1. จุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ ของงาน ผู้จัดควรต้องทราบว่า จะจัดอะไรให้ใครดู เรื่องอะไรที่กลุ่มเป้าหมายสนใจ ต้องการให้รู้อะไรบ้าง นิทรรศการที่ดีต้องมีจุดมุ่งหมาย และวัตถุประสงค์ที่แน่นอน การจัดนิทรรศการหลายเรื่องหรือหลายวัตถุประสงค์ย่อมเป็นอันตราย ถึงแม้จะจัดเสนอดี ก็อาจทำให้ผู้ชมให้ความสนใจเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
        2. การเสนอเนื้อหา เนื้อหาที่ดีไม่ได้หมายถึงต้องเป็นเนื้อหาที่คุ้นเคย หรือสามารถให้ความบันเทิงใจสูงสุด และไม่ได้หมายความว่า จะต้องให้สอดคล้องกับรสนิยมในสังคมเสมอไป แต่หมายถึงว่าเนื้อหานั้นอาจนำมาแสดงได้อย่างเหมาะสม และสามารถ กระตุ้นความสนใจ ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ชมได้เป็นอย่างดี ฉะนั้น การที่จะให้เกิดผลดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้จัด ให้ผู้ชมสามารถเข้าใจในเนื้อหาที่นำมาเสนอได้อย่างชัดเจน แต่ในแง่นิทรรศการทางวิชาการซึ่งมีเนื้อหา จะถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการที่แน่นอนมักแสดงกับนักวิชาการในกลุ่มหรือระดับเดียวกับ ผู้จัดเป็น ส่วนใหญ่
                3. หัวเรื่อง ชื่อของนิทรรศการนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง เพราะจะเป็นตัวแจ้งกับผู้ชมว่า นิทรรศการนี้จะจัดเกี่ยวกับอะไร ตรงกับความสนใจของผู้ชมหรือไม่ ในขณะเดียวกันก็ให้ความหมายครอบคลุมเนื้อหาที่จะแสดงไว้ด้วย
                4. ข้อความและคำบรรยาย นิทรรศการที่เต็มไปด้วยข้อความและคำบรรยายมักทำให้น่าเบื่อ ควรเลือกเอาแต่สิ่งที่ดีและสำคัญที่สุดมาเสนอ นิทรรศการที่เต็มไปด้วยการอ่านมักไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะผู้ชมอาจ เหนื่อยล้า หมดอารมณ์กับการอ่าน อีกประการหนึ่งผู้ชมจำนวนมากจะต้องเคลื่อนที่ไปตามแนว การอ่านข้อความมากๆนั้น อาจทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่กลับไปพร้อมกับความสับสนมากกว่าความรู้ ดังนั้นข้อความที่มากมาย ยืดยาวอาจจะเป็นการทำลายบรรยากาศของนิทรรศการลงอีกด้วย 


1. ความเหมาะสมของสื่อ
                สิ่งของต่างๆ ที่จะนำมาแสดงไม่ว่าจะเป็นสื่อ แผงตั้งแสดงตลอดจนฐานตั้งแสดง ควรผ่านการพิจารณา ในด้าน คุณสมบัติบางประการเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นหุ่นจำลอง ที่ต้องการแสดง อาคาร สถานที่ หรือวิธีการจัด หรือตกแต่งบางสิ่งบางอย่าง ที่นำของจริงมาแสดงไม่ได้ หรือรูปภาพ นับเป็นการเลือกวัตถุที่จะนำมาแสดงที่ประหยัดที่สุด แต่ควรจะ ได้ภาพที่ถ่าย ชัดเจนและ สื่อความหมายได้มาก ทั้งนี้แล้วแต่ความสะดวกและจุดมุ่งหมายของเรื่อง หุ่นจำลองอาจจะให้ข้อมูลแก่ผู้ดูได้ดีกว่าของจริง เพราะสามารถเน้นได้ดีกว่า อีกทั้งยังเก็บรักษาได้คงทนถาวรกว่าของจริง การแสดง บางอย่าง จำเป็นต้องแสดงเป็นแผนภูมิ แผ่นป้าย แผ่นสถิติ เพราะให้คำอธิบายได้ดีกว่ารูปถ่าย ทั้งยังไม่สิ้นเปลืองและเสียเวลา ในการทำความเข้าใจอีกด้วย  สิ่งเหล่านี้ผู้จัดนิทรรศการควรใช้ดุลยพินิจของตัวเอง และตัดสินใจ ที่จะใช้ให้เหมาะสม ของที่นำมาจัดแสดงไม่จำเป็นต้องมีมาก แต่ต้องมีความสำคัญพอ และไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ
                        
2. บอร์ดจัดแสดง
                นิทรรศการมักนิยมใช้แผงหรือบอร์ดจัดแสดงสำหรับติดสื่อแสดงประเภท
2 มิติ เช่น ภาพถ่าย แผนภูมิ แผนสถิติ นับว่ามีความ สำคัญมาก เพราะนอกจากใช้ประโยชน์สำหรับติดชิ้นงานแล้ว บอร์ดจัดแสดงยังช่วยเสริมหรือเพิ่มคุณค่าให้แก่นิทรรศการอีกด้วย  บอร์ดจัดแสดงควรคำนึงถึงความสวยงามและประโยชน์ใช้สอย ความมั่นคงแข็งแรง การทรงตัว มีความสูงพอเหมาะหรืออยู่ในระดับสายตา ซึ่งง่ายแก่การมอง การประกอบและติดตั้งควรทำได้ง่าย และสะดวก
การจัดสถานที่ จะต้องจัดแสดงไปตามลำดับตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบ และเพื่อที่จะให้ผู้ชมจำนวนมากได้เข้าชมโดยสะดวกทั่วถึง ป้ายและบอร์ดควรจะวางในลักษณะต่างๆ ดังนี้
                1. การจัดแสดงตามระเบียงทางเดิน
                2. การจัดแสดงแบบต่อเนื่องกันไป
                3. บอร์ดที่จัดตั้งให้เห็นสิ่งที่แสดงทั้งสองด้าน
                4. จัดแสดงแบบต่อเนื่องโดยใช้บอร์ดที่ดูได้ทั้งสองด้าน
                5. การวางบอร์ดที่แยกจากกัน
                6. จัดบอร์ดแบบสลับฟันปลา
                การถ่ายเทอากาศ สำหรับอาคารที่จัดนิทรรศการที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ควรจะต้องมีประตูหน้าต่างช่องระบายลมให้เพียงพอ สำหรับให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก สำหรับอาคารที่อับทึบในการจัดนิทรรศการ ควรจัดหาพัดลมสำหรับเป่าและดูดอากาศให้เพียงพอ แสง แสงสว่าง แสงเป็นสิ่งสำคัญในการจัด ผู้ชมจะเพลิดเพลินและ ให้ความสนใจ มากน้อยก็อยู่กับสิ่งนี้ ถ้าแสงสว่างไม่เพียงพอ ผู้ชมก็อาจเบื่อได้ง่าย หรือถ้าแสดงสว่างมากเกินไปก็อาจทำให้ปวดสายตา สิ่งที่จะแสดง และต้องการให้ผู้ชมพิจารณานานก็ควรมีแสงสว่างพอเหมาะ นิทรรศการส่วนมากมักจะมีปัญหาที่เกิดจากการให้แสงไม่ดี เพราะไม่ได้คิดเอาเรื่องนี้ไว้ในแผนล่วงหน้า ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้ออกแบบไม่ได้ควบคุมเรื่องแสงสว่างใน สภาวะแวดล้อม ได้ทันท่วงที
ผู้นำชม ในบางครั้งสิ่งที่แสดงอาจจะต้องมีการสาธิตให้แก่ผู้ชมทราบว่าใช้อย่างไรในการชม บางครั้งดูด้วยตา อ่านคำอธิบาย แล้วยังไม่เข้าใจแจ่มชัด จำเป็นต้องมีผู้อธิบายเพิ่มเติมอีก ทั้งยังได้เป็นการเฝ้าสิ่งของไปด้วย บางครั้งสามารถที่จะทำรายการ ประเภทของผู้ชม สถิติ จำนวนผู้ชม ส่วนใหญ่สนใจงานอะไรประเภทไหน เพราะบางทีผู้ชมก็เบื่อหน่ายที่จะให้ข้อเท็จจริง ด้วยการออกแบบสอบถาม การใช้โสตทัศนูปกรณ์ เช่น ภาพยนตร์ ภาพสไลด์ วีดิทัศน์ ที่มีเนื้อหาสาระสอด คล้องกับนิทรรศการใช้ร่วมกับการแสดงได้โดยจัดโปรแกรมและจัดวาง สถานที่ตั้งเครื่องและสถานที่สำหรับการชมให้กลมกลืนกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน วิธีการสาธิต  การอภิปราย หรือบรรยายประกอบการแสดงนิทรรศการก็มีประโยชน์ทำให้นิทรรศการได้ผลดี จะครอบคลุมเนื้อหาสาระที่ต้องการนำเสนอได้มากยิ่งขึ้น การสาธิต นั้นอาจกระทำได้โดยตลอดเวลาเมื่อมีผู้มาชม หรือมาซักถาม




การออกแบบนิทรรศการ                                                                                                                                 การออกแบบการจัดนิทรรศการ การจัดนิทรรศการมีอยู่ 3 รูปแบบดังนี้
                1. แบบกำหนดทางเดิน การจัดแสดงนิทรรศการในแบบนี้ เราสามารถกำหนดทางเดินเข้า - ออก และกำหนดลำดับของการต่อเนื่อง ของการแสดงได้ ทำให้ผู้ดูเคลื่อนไปในทิศทางที่ต้องการ หรือเปิดให้ได้ผ่านส่วนที่ตั้งใจจะให้คนได้เห็นเป็นพิเศษ สามารถจำกัด ผู้ชมตามความเหมาะสมของสถานที่และนับจำนวนผู้ชมเข้าได้ง่าย การกำหนดผังทางเดินค่อนข้างยุ่งยากอาจใช้ส่วน ของ การแสดงบอร์ดหรือ หลักบังคับทิศทางเดินหรือสิ่งกีดขวาง เช่น ใช้เชือกกั้น ในบริเวณที่ผู้คนคับคั่งอาจทำเป็นที่ยืนชม 2-3 แถว ลดหลั่นกันไป
                2. แบบเปิด เป็นการจัดนิทรรศการ ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมเลือกดูเอาตามใจชอบโดย ไม่ได้กำหนดทางเข้าออก การจัดเป็นกลุ่ม ๆ อาจต่อเนื่องหรือไม่ก็ได้ ข้อดีของการจัดแบบนี้คือ สามารถจัดเป็นกลุ่มอิสระเฉพาะเรื่องได้จัดผู้เข้าชมเป็นหมู่ตามความสนใจ การจัดยุ่งยากน้อยกว่า ส่วนข้อเสีย คือ คนอาจเบียดเสียดกันเป็นแห่ง ๆ เฉพาะจุดที่น่าสนใจ
                3. แบบผสม เป็นการจัดแบบกำหนดทางเดิน และแบบเปิดผสมกัน กล่าวคือ จัดบริเวณส่วนที่ต้องการให้ผู้ดูมองเห็นสิ่งที่แสดงตามลำดับต่อเนื่องกันไป เป็นแบบปิดโดยกำหนดทางให้เข้าทางหนึ่งออกทางหนึ่ง ส่วนบริเวณที่ไม่จำเป็นต้องแสดงขั้นตอนต่อเนื่อง ก็จัดเป็นแบบเปิดได้ สิ่งที่นำมาใช้ในการกำหนดทางเดินนั้น อาจใช้บอร์ด หรือแผงนิทรรศการหรือใช้วัสดุอื่น ๆ เช่น ไม้ไผ่ เชือก ต้นไม้ประดับ ฯลฯ แต่สิ่งเหล่านี้ต้องไม่ รบกวนหรือแย่ง ความสนใจ ของผู้ชมไป
ประโยชน์ของนิทรรศการ                                                                                                                                                                                                 1. นิทรรศการช่วยรวบรวมสิ่งแสดงต่างๆ มาไว้ในที่แห่งเดียวกัน เช่น รูปภาพ ของจริง ของตัวอย่าง หุ่นจำลอง และการสาธิต จะทำให้สะดวกต่อการศึกษาหาความรู้ของผู้ที่สนใจ ซึ่งหาจากที่อื่นได้ยาก
2. นิทรรศการช่วยนำความคิดและข้อมูลที่กระจัดการะจายอยู่ในที่ต่าง ๆ มารวมเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะมีการร่วมกันจัดจากหลาย ๆ หน่วยงาน ก็ยิ่งจะมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ผู้ดูสามารถเลือกหาข้อมูลที่ตนต้องการได้ง่าย
                3. นิทรรศการสามารถแสดงความคิดที่อยู่ในลักษณะนามธรรม (Abstract) ซึ่งเข้าใจได้ยาก ให้ออกมาในลักษณะของรูปธรรม ที่ผู้ดูสามารถเข้าใจได้ เช่น ข้อมูลที่เป็นตัวเลขก็นำมาแปลงให้เป็นลักษณะกราฟ แผนภูมิ หรือนำของจริงมาให้ดู ด้วยตา ฟังด้วยหูของตนเอง จะทำให้ผู้ดูเกิดความประทับใจและจดจำได้นาน ๆ
                4. นิทรรศการช่วยกระตุ้นความสนใจในสิ่งที่แปลก ๆ ใหม่ ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งวิทยาการอื่น ๆ ทดลองนำไปปฏิบัติต่อไป                                                                                                                                          5. นิทรรศการช่วยส่งเสริมการแสดงออกในลักษณะของการร่วมมือกันจัดแสดงระหว่างบุคลากรหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนการให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมบางอย่าง อาทิ ให้ทดลองใช้สิ่งของที่นำมา แสดงในงาน
หลักการจัดนิทรรศการ มีดังนี้
     1. ความเด่น เช่นทิศทางของเส้น ความเด่นของแบบ หรือรูปร่าง ขนาดและสี สิ่งเหล่านี้จะทำให้นิทรรศการดึงดูดความสนใจและสะดุด
สายตาของผู้ชม ไม่ควรใช้สีเกินกว่า 2-3 สี โดยใช้สีที่เป็นกลางเป็นพื้นหลัง และใช้สีที่เข้มเพื่อเน้นจุดสนใจ
     2. ความไม่ซ้ำซาก ทำให้เกิดความสนใจของผู้ดูอยู่ได้นาน
     3. ความสมดุล (BALANCING) ทำให้ความสนใจของผู้ดูไม่หันเหออกจาก เนื้อเรื่องนั้น
     4. ความต่อเนื่อง การใช้เส้น สี และแบบ จะช่วยแนะให้ผู้ดูสามารถดูและเข้าใจเนื้อหาได้ตามช่วงและจังหวะที่จัดไว้
     5. การเน้นจุดสนใจ (EMPHASIS) ในป้ายนิทรรศการ เป็นการจัดให้ภาพ และข้อความที่มีความสำคัญเด่นชัดขึ้นซึ่งอาจทำได้โดยยึดหลัก
         5.1 ภาพที่แยกจากภาพอื่น จะทำให้ดูว่ามีความสำคัญ
         5.2 ภาพที่มีขนาดใหญ่กว่าภาพอื่นทั้งหมดย่อมดึงดูดความสนใจ
         5.3 สีและรูปทรงของภาพสามารถแข่งกับขนาดได้ หลักสำคัญในการวางจุดสนใจ คือ วางไว้ในระดับสายตาสูงจากพื้นขึ้นประมาณ 5 ฟุต ระดับ ที่อยู่เหนือ 7 ฟุต ขึ้นไป และต่ำกว่า 3 ฟุต ลงมา จะไม่อยู่ในระดับที่ผู้ดูให้ความสนใจ
     6. การจัดให้มีเอกภาพ (UNITY)
         6.1 จัดภาพที่มีความเกี่ยวพันเด่นชัดมาอยู่รวมกัน อาจใช้วัสดุขนาด และรูปร่าง ซ้ำ ๆ กัน
         6.2 จัดวัสดุที่มีลวดลายแปลก ซ้ำ ๆ กัน ทำให้เป็นหมวดหมู่และเรื่องราวที่สัมพันธ์กัน
     7. ความแตกต่าง (CONTRAST) เป็นการจัดที่มีความประสงค์ให้มีการขัดแย้งเพื่อแก้ปัญหา ความซ้ำซากจำเจ หรือเบื่อหน่ายจากการจัดลักษณะในทำนองเดียวกันหมดไม่มีลักษณะตื่นเต้นแอบแฝงอยู่ ดังนั้น การออกแบบโดยอาศัยหลักความแตกต่าง โดยการทำให้มีบางส่วน หรือหลายส่วนทำให้เกิดการขัดแย้งกัน จะเป็นเส้นที่ตัดกัน ผิดเรียบ นุ่มนวล ตัดด้วยผิวขรุขระ หรือการใช้สีตรงกันข้าม เพื่อให้รู้สึกขัดแย้ง
กันบ้างในส่วนเล็ก ๆ น้อย ๆ อันจะช่วยให้มีชีวิตชีวาเพิ่มขึ้น เพิ่มรสชาติแตกต่างกันออกไป
     8. ความกลมกลืน (HARMONY) ในที่นี้หมายถึงการพิจารณาในส่วนรวมทั้งหมดแม้จะมีบางอย่างที่แตกต่างกันก็ตาม แต่เมื่อมองดูแล้วให้ความรู้สึกผสมผสานกลมกลืนเข้ากันได้
     9. ความเรียบง่าย (SIMPLICITY) เป็นสิ่งที่สำคัญในการจัดนิทรรศการ เพราะสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพตัวอักษรที่สื่อความหมายชัดเจนจะช่วยให้ผู้ชมเกิดการเข้าใจได้เร็วขึ้น ควรระลึกเสมอว่าจุดมุ่งหมายที่สำคัญของการจัดนิทรรศการ เพื่อให้คนดูเข้าใจเรื่องราวที่เราแสดงการใช้วัสดุหรือสิ่งที่แสดงเกินความ จำเป็น หรือมีลักษณะแปลกพิศดารไม่ตรงกับเนื้อหาย่อมไม่เกิดผลดี ดังนั้นการประหยัดและความชัดเจนเรียบง่ายจะทำให้นิทรรศการนั้นน่าสนใจมิใช้น้อย
     10. ความสมบูรณ์ขั้นสำเร็จ (FINISH) เป็นการสำรวจขั้นสุดท้าย ที่จะสรุปผลการออกแบบอันมีผลโดยตรงต่อส่วนรวมทั้งหมด มีส่วนใดบกพร่องไม่เหมาะสมต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แก้ไข โดยใช้ความคิด หรือถ้ายังไม่พอใจ อาจต้องมีการทดลองจัดตามที่คิดว่าถูกต้องเหมาะสมแล้ว ก็พิจารณาเปรียบเทียบกับประสบการณ์ที่เคยจัดมาแล้ว เมื่อรู้สึกว่าไม่ดีเท่าก็โยกย้ายกลับที่เดิมถือว่าเป็นการประลองความคิดเมื่อได้ทดลองเช่นนี้ ก็จะช่วยมีการตัดสินใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้นอันเป็นผลดีแก่การจัดนิทรรศการ

ปัญหาที่พบสาเหตุที่ทำให้การจัดนิทรรศการไม่ได้ผล หรือจัดแสดงแล้วไม่ได้ผลตามจุดมุ่งหมาย
1. ไม่มีงบประมาณเพียงพอ
2. ไม่มีสถานที่ที่จะจัดแสดง หรือสถานที่ไม่เหมาะสม
3. มีอุปกรณ์ไม่เพียงพอต่อการจัดนิทรรศการ
4. ผู้จัดนิทรรศการยังไม่เข้าใจวิธีการ
5. เรื่องที่จัดไม่อยู่ในความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย
ขั้นตอนและการดำเนินงานจัดนิทรรศการ มีขั้นตอนโดยสรุปดังนี้
ขั้นที่ 1 ขั้นวางแผน
ขั้นวางแผนเป็นขั้นของการคิด ในการที่จะดำเนินการจัดนิทรรศการทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การหาชื่อเรื่อง ของนิทรรศการ การตั้งจุดมุ่งหมาย งบประมาณ สถานที่ ไปจนถึงขั้นสุดท้ายของการจัดนิทรรศการ คือ การสรุปผล ซึ่งใน ขั้นของการวางแผนอาจจะเขียนในรูปของโครงการจัดนิทรรศการก็ได้
ขั้นที่ 2 ขั้นเตรียมการและออกแบบ
เมื่อได้กำหนดโครงการการจัดนิทรรศการเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงขั้นการเตรียมการและออกแบบ ในการเตรียมการนั้น ก็เตรียมการตั้งแต่การวิเคราะห์เนื้อหา รวบรวมวัตถุสิ่งของหรือเอกสารต่างๆ ที่จะนำออกแสดง จัดแบ่งประเภท หมวดหมู่ และความสำคัญตามลำดับ คำบรรยายของสิ่งต่างๆ สำรวจดูให้แน่ใจว่า มีครบและพอเพียงตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ เมื่อรวบรวมวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่จัดแสดง เมื่อได้ครบแล้วจะทำให้ทราบ ขนาดของนิทรรศการที่จะจัดแสดง ว่ามีขนาดใหญ่พียงไร ต้องการใช้พื้นที่ที่จัดแสดงเท่าใด ต้องใช้บอร์ด ฐานตั้ง ตู้กระจก โต๊ะ สำหรับจัดแสดงจำนวนเท่าใด มีขนาดกว้างยาวแค่ไหน จากนั้นก็นำข้อมูลดังกล่าวมาจัดวางผังงานและทำการออกแบบ โดยคำนึงถึงความสำคัญว่า สิ่งใดที่ต้องการเน้นเป็นจุดเด่น สิ่งใดเป็นจุดรอง และควรคำนึงถึงเส้นทางเดินของผู้ชมนิทรรศการด้วย โดย กะประมาณให้มีเนื้อที่กว้างพอที่ผู้ชมจะดูสิ่งของได้ทั่วถึง นอกจากนี้ใน การออกแบบการจัดแสดงควรจัดเรียงลำดับสิ่งที่ต้องการแสดง ว่าผู้ชมควรเริ่มดูจากจุดใด ไปสู่จุดใด ทั้งนี้ทำได้โดยการกำหนด วิธีการจัดแผง ฐานตั้ง และเส้นทางเดินของผู้ชมนิทรรศการ

ขั้นที่ 3 ขั้นการจัดทำ
เมื่อได้เตรียมการและออกแบบแล้ว ก็ถึงขั้นลงมือจัดทำ ในขั้นนี้ต้องใช้บุคคลฝ่ายต่างๆ มากมาย เช่น นักวิชาการ ช่างเทคนิคและช่างศิลป์ มาร่วมมือกันปฏิบัติงาน ตามลักษณะงานที่ตนเองถนัดและชำนาญ โดยเริ่มตั้งแต่ การจัดทำแผง การทำฐานตั้ง การเขียนตัวอักษร การจัดไฟ การประดับตกแต่งห้อง การจัดวางหรือติดตั้ง แขวนวัตถุสิ่งของที่จะจัดแสดง ในการจัดทำนั้นอาจจะจัดทำที่ใดที่หนึ่งให้เรียบร้อยก่อนแล้วจึงขนไปจัดแสดง ยังสถานที่ที่จัดนิทรรศการ หรือจะไปจัดทำในห้องที่ใช้จัดแสดงนิทรรศการก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่ความสะดวกของผู้จัด

ขั้นที่ 4 ขั้นการประชาสัมพันธ์
การประชาสัมพันธ์เป็นการโฆษณา เพื่อเชิญชวนหรือชักจูงหรือแจ้งข่าวสารต่างๆ ให้แก่ประชาชน เพื่อให้ทราบ ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับงานนิทรรศการ เช่น งานนิทรรศการจัดระหว่างวันที่ เดือน ปี ภายในงานมีการจัดแสดงอะไรบ้าง รายการใดที่มีความสำคัญ หรือมีคุณค่ามาก เก็บเงินค่าผ่านประตูหรือไม่ เป็นต้น ในการประชาสัมพันธ์นั้นควรมีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าก่อนวันงานประมาณอย่างน้อย 1 เดือน และถ้าเป็นนิทรรศการ ขนาดใหญ่มาก การประชาสัมพันธ์ ควรทำล่วงหน้าให้นานกว่านี้ สำหรับสื่อที่จะใช้ในการประชาสัมพันธ์นั้น มีอยู่มากมาย เช่น การประชาสัมพันธ์ทางวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ แผ่นภาพโฆษณา สติกเกอร์ เอกสาร สูจิบัตร ไปรษณียบัตร หรือส่งบัตรเชิญ หรือจดหมายเชิญชวนไปยังที่บ้านของประชาชน หรืออาจจะอาศัยกำนัน ผู้ใหญ่บ้านไปประชุมเชิญชวน ลูกบ้านให้มาชม นิทรรศการก็ได้ ซึ่งในการจะประชาสัมพันธ์ให้ได้ผลตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ ผู้จัดควรเลือกใช้สื่อและวิธีการประชาสัมพันธ์หลายๆ รูปแบบ

ขั้นที่ 5 ขั้นการนำเสนอ
การนำเสนอคือการให้ประชาชนเข้าชมและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ผู้จัดนิทรรศการจัดทำขึ้น ซึ่งในขั้นของการนำเสนอนี้ มีกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ คือ พิธีเปิดนิทรรศการ การสาธิต การจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การอภิปราย การโต้วาที การฉายภาพยนตร์ การฉายสไลด์ การอธิบายและตอบคำถามของผู้ชม การประชาสัมพันธ์ในงาน การอำนวย ความสะดวก เช่น การชี้แจงเส้นทางจราจร การแนะนำสถานที่ที่จะไปชมนิทรรศการว่า ที่ใดจัดแสดงเรื่อง อะไร การรักษาความปลอดภัย การปฐมพยาบาล ดังนั้นในขั้นนี้ผู้จัดนิทรรศการจะต้องจัดเตรียมบุคคลต่างๆ ประจำที่ที่มีการจัดแสดง ให้พร้อมเพรียง

ขั้นที่ 6 ขั้นการประเมินผล
ในการจัดนิทรรศการนั้น ควรมีการประเมินผลไว้ ทั้งนี้เพื่อให้ทราบว่านิทรรศการที่จัดขึ้นนั้น บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ มีข้อดีและข้อควรปรับปรุงอะไรบ้าง ทั้งนี้เพื่อจะได้นำไปใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณา ปรับปรุงแก้ไขการจัดนิทรรศการครั้งต่อไป สำหรับกรรมวิธีในการเก็บข้อมูลการประเมินผลนั้น อาจทำได้โดยการแจกแบบสอบถาม หรืออาจจะใช้วิธีการสัมภาษณ์ผู้เข้าชมนิทรรศการก็ได้

ขั้นที่ 7 ขั้นการสรุปผล
หลังจากจัดนิทรรศการผ่านพ้นไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ ควรมีการประชุมคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ที่ร่วมจัดนิทรรศการเพื่อทำการประเมินผล ผลการจัดนิทรรศการในส่วนที่คณะกรรมการชุดนั้นๆ รับผิดชอบ ว่าผลการจัด นิทรรศการนั้นเป็นอย่างไร มีปัญหาอุปสรรค ข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง มีสิ่งที่ควรจะปรับปรุงแก้ไขหรือข้อเสนอแนะอย่างไร เมื่อฝ่ายต่างๆ เสนอครบหมดทุกฝ่ายแล้ว ก็นำมารวมสรุปเป็นผลของการจัดนิทรรศการ ซึ่งการสรุปผลอาจทำในรูปของรายงาน ก็ได้


การประดิษฐ์ตัวอักษรในการจัดนิทรรศการ
                การจัดนิทรรศการตัวอักษร คือ หัวใจสำคัญที่จะสื่อความหมายให้ผู้ชมได้ทราบความเป็นมาและเข้าใจอันดีตามวัตถุประสงค์ของผู้จัด ความสะอาด อ่านง่าย ความเป็นระเบียบเรียบร้อยจะทำให้นิทรรศการนั้นมีคุณค่าเกินกว่าครึ่งแล้วขนาดของตัวอักษร และสีที่ใช้มี ความ สัมพันธ์กับผู้อ่านลักษณะความกลมกลืนของเรื่องและ ภาพที่จัดนิทรรศการนั้น ๆ ด้วย เช่น การจัดนิทรรศการเกี่ยวกับต้นไม้ ใบหญ้า อาจใช้วัสดุจากต้นไม้ใบหญ้านั้น ๆ มาประดิษฐ์เป็นตัวอักษร หรืออาจใช้กระดาษสี หรือสติ๊กเกอร์มาตัดเป็นตัวอักษร ปิดทับบนโฟม ที่มีความหมาย เพื่อให้เกิดมิติ (Dimension) แก่ตัวอักษรนั้น ตัวสีอ่อนควรปิดบนพื้นสีแก่และในทำนองเดียวกัน ตัวอักษรสีแก่ควรปิดทับ พื้นสีอ่อน ต้นแบบที่ตัดออกมาอาจใช้เป็นแบบสเตนซิล สำหรับแผ่นอื่นๆ อีกก็ได้ มีวิธีการต่างๆ ที่
               
ข้อเสนอแนะจากประสบการณ์
                1. บริเวณจุดเปิดงาน (land mark) ควรออกแบบให้เด่นสะดุดตาเพื่อกระตุ้นความสนใจให้ผู้ที่เดินผ่านไปมาทราบได้ทันทีว่ามีการจัดแสดงนิทรรศการเรื่องใด โดยหน่วยงานใด ดังนั้นองค์ประกอบหลักของส่วนนี้จึงประกอบด้วย ชื่อเรื่อง ชื่อหน่วยงาน สัญลักษณ์ (logo) ของงาน สโลแกน (slogan) สั้นๆ อาจนำเสนอด้วยรูปแบบของการจัดสวน การจัดทำพืชผัก- ผลไม้ยักษ์ หรือโครงสร้างที่น่าสนใจอื่นๆ เพื่อเน้นจุดที่จะนำเข้าสู่นิทรรศการ โดยอาจใช้วัสดุตกแต่งรูปแบบต่ ๆ เป็นส่วนเสริมให้เกิดความสวยงามยิ่งขึ้น
                2. การใช้สโลแกนและโลโก้ หมายถึง การใช้ข้อความหรือคำขวัญสั้นๆ ที่มีความหมายกินใจหรือการใช้ลักษณะคำสัมผัส พ้องรูป พ้องเสียง เพื่อสื่อความหมายของการจัดงาน ทำให้ผู้ชมเกิดความประทับใจ  จดจำได้นาน เช่น การจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ของจังหวัดอุบลราชธานี ทางจังหวัดใช้สโลแกนเพื่อประชาสัมพันธ์งานว่า เมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย หอยใหญ่  ไข่แดง แหล่งธรรมะ”  เป็นต้น ส่วนการใช้โลโก้หรือสัญลักษณ์ของงาน เพื่อต้องการสื่อความหมายให้เห็นถึงภาพรวมในการจัดงาน เช่น การใช้สัญลักษณ์ของงอบแทนความหมายของงานเกษตร หรือฟันเฟือง แสดงความหมายของงานเครื่องจักรกล ฯลฯ  ที่สำคัญ คือการออก แบบโลโก้ควรใช้ ตัวหนังสือให้น้อยที่สุด  เพราะต้องการใช้สัญลักษณ์สื่อความหมายของงาน
                3. การใช้ข้อความและตัวอักษร ควรใช้ข้อความหรือคำบรรยายสั้นๆ กะทัดรัด ชัดเจน สื่อด้วยตัวอักษรขนาดพอเหมาะไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไปและควรใช้สื่ออื่นๆ ประกอบ เช่น ใช้ภาพ  ตัวอย่างของจริง  หุ่นจำลอง  การสาธิตประกอบนิทรรศการ ฯลฯ  การใช้ข้อความ
แต่เพียง อย่างเดียวจะทำให้นิทรรศการน่าเบื่อ  และผู้ชมขาดความอดทนในการชมนิทรรศการให้จบทั้งเรื่อง
                4. การจัดเจ้าหน้าที่ดูแลนิทรรศการเพื่อตอบปัญหาหรือข้อซักถามเกี่ยวกับนิทรรศการ เพราะการจัดโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำคูหานิทรรศการจะทำให้ผู้ชมไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่  บางครั้งนิทรรศการไม่สามารถให้รายละเอียดได้เพียงพอ  ผู้ชมอาจต้องการข้อมูลเพิ่มเติมในเชิงลึก  หากได้รับคำอธิบายเพิ่มเติมจะทำให้เข้าใจเรื่องราวได้ดีขึ้น  นอกจากนั้นในช่วงนอกเวลาราชการควรจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแลนิทรรศการเพื่อป้องกันทรัพย์สินเสียหาย  และควรมีพนักงานทำความสะอาดคอยดูแลรักษาความสะอาดตลอดการจัดงาน
                5. การจัดเตรียมและตกแต่งสถานที่จัดนิทรรศการภายนอกอาคาร ควรออกแบบในลักษณะโครงสร้างที่แข็งแรง กันแดด  ฝน และลม  หากมีความจำเป็นต้องใช้เต๊นท์ผ้าใบควรตกแต่งให้สวยงาม โดยอาจใช้วัสดุ  เช่น ไม้ไผ่  แฝก  ผ้าสี ฯลฯ  หุ้มเสาเต๊นท์หรือทำโครงสร้างรูปแบบต่างๆ เช่น จั่ว หลังคา ปิดทับบนผ้าใบเต๊นท์  และถ้ามีงบประมาณเพียงพออาจจัดในรูปแบบของเรือนไทย ศาลา โรงเรือน อาคารชั่วคราวที่สามารถถอดประกอบได้ (knock  down)  เพื่อความสะดวกในการขนย้าย  จัดเก็บและใช้งานได้หลายครั้ง
                6. แสงสว่างบริเวณจัดนิทรรศการ  ควรมีแสงสว่างเพียงพอ จุดใดที่ต้องการเน้นสามารถใช้แสงไฟช่วย เช่น สปอตไลท์  ไฟนีออน  หรือใช้ไฟกระพริบในเวลากลางคืน
        7. ผู้จัดควรมีเวลาตรวจสอบชิ้นงานก่อนพิธีเปิดงานนิทรรศการ เพื่อป้องกันความผิดพลาด หรือหากต้องการแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความเพื่อให้นิทรรศการมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นก็สามารถทำได้ทันทีเนื่องจากยังมีเวลาพอ
        8. ในกรณีที่มีการจ้างเหมาบริษัทจัดนิทรรศการ และเพื่อป้องกันความผิดพลาดในการรับและส่งมอบงาน หน่วยงานผู้ว่าจ้างต้องระบุรายละเอียดที่ต้องการในสัญญาให้ชัดเจน  เช่น การจัดจ้างออกแบบและสร้างอาคารนิทรรศการชั่วคราวมีจำนวนทั้งสิ้นกี่หลัง ขนาดกว้างยาว  สูงเท่าใด  ใช้วัสดุอะไรเป็นส่วนประกอบ งบประมาณในการจัดจ้างแต่ละหลังเป็นเงินเท่าใด การดำเนินงานต้องเสร็จสิ้นล่วงหน้าก่อนงานเปิดกี่วัน และเมื่องานสิ้นสุดลงต้องนำวัสดุหรือโครงสร้างนิทรรศการไปเก็บไว้ที่ใด นอกจากนั้นที่สำคัญคือหน่วยงานผู้ว่าจ้างควรตั้งคณะ กรรมการ  หรือคณะทำงานจากบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวนอย่างน้อย 2 คณะเพื่อทำหน้าที่คัดเลือกบริษัทผู้รับจ้างโดยให้บริษัทผู้รับจ้างแข่งขันกันนำเสนอผลงานพร้อมงบประมาณ เพื่อให้คณะกรรมการคัดเลือกบริษัทที่ดีที่สุด และให้ประโยชน์กับหน่วยงานมากที่สุด  ส่วน
คณะกรรมการอีกชุดหนึ่ง  คือ คณะกรรมการตรวจสอบกำกับดูแลการจ้างเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบชิ้นงานทุกระยะว่าตรงตามคุณลักษณะที่กำหนดไว้หรือไม่  และเพื่อกำกับดูแลให้งานแล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด
        9. การจัดนิทรรศการแต่ละครั้ง ผู้จัดควรประเมินผลการจัดนิทรรศการทุกครั้ง เพื่อนำผลการประเมินไปใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงการจัดนิทรรศการ  และเป็นหลักฐานอ้างอิงได้ การประเมินผลทำได้ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ  โดยการสร้างเครื่องมือวัดผล เช่น แบบสอบถาม  แบบสัมภาษณ์หรือแบบทดสอบ  ส่วนแบบไม่เป็นทางการ เช่น  การพูดคุย  การสังเกต  ฯลฯ
         10. เมื่อการจัดนิทรรศการเสร็จสิ้นลง ควรจัดเตรียมสถานที่สำหรับจัดเก็บชุดนิทรรศการ โดยจัดให้เป็นหมวดหมู่ ทำทะเบียนชื่อเรื่อง สรุปจำนวนแผ่นในแต่ละชุด  บรรจุลงในกล่องหรือจัดทำซองใส่เพื่อป้องกันการชำรุดเสียหาย  ในส่วนของโครงสร้างก็เช่นกันควรจัด เตรียมสถานที่ให้เหมาะสม โดยอาจสร้างเป็นโรงเรือนสำหรับเก็บนิทรรศการโดยเฉพาะ  ก็จะทำให้สะดวกในการใช้งานครั้งต่อไป




Exhibition หมายถึง การจัดงานแสดงสินค้า/นิทรรศการ เป็นการแสดงผลงาน สินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือบริการ เพื่อขายให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งเปิดให้ผู้เข้าชมทั่วไปได้เข้าร่วมงานด้วย ทั้งนี้สามารถจำแนกออกเป็น 3 ประเภท คือ


1.
Public Show หมายถึง การจัดงานแสดงสินค้าโดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นผู้บริโภค

2.
Trade Show หมายถึง การจัดงานแสดงสินค้าโดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นผู้ประกอบการ

3.
Public and Trade Show หมายถึง การจัดงานแสดงสินค้าที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น