สนับสนุน

วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ภาพกับการผลิตรายการโทรทัศน์



      การผลิตรายการโทรทัศน์ ภาพเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะนำมาสื่อสารเนื้อหาสาระเพื่อถ่ายทอดจินตนาการ และเหตุการณ์ไปยังผู้ชม เพื่อจะสร้างให้เกิดอารมณ์และบรรยากาศในส่วนที่ช่วยดึงดูดให้ผู้ชมคล้อยตาม เกิดความสนใจพร้อมติดตามอย่างต่อเนื่อง ไม่เบื่อหน่าย

     ในการเสนอภาพทางโทรทัศน์ต้องผสมผสานทั้งภาพและเนื้อหา ต้องหาแนวทางในการเสนอภาพ ว่าจะทำอย่างไร จึงส่งผลให้ภาพบอกความหมายและเรื่องราวต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ได้อย่างสมบูรณ์ มีคุณค่าทางภาษาของภาพตรงกับวัตถุประสงค์

ข้อควรคำนึงถึงในการเสนอภาพทางโทรทัศน์ ได้แก่

  • การสื่อความหมายด้วยภาพ 
  • ขนาดของภาพ
  • มุมกล้อง 
  • การเคลื่อนไหวของกล้อง
  • การจัดองค์ประกอบของภาพ
ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  1. การสื่อความหมายด้วยภาพ
          การใช้กล้องโทรทัศน์บันทึกภาพเพื่อให้ได้ภาพเคลื่อนไหวนั้น ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก แต่การที่จะทำให้ภาพเคลื่อนไหวเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพ  บรรจุเนื้อหาสาระที่ต้องการได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ตามวัตถุ
ประสงค์ เพื่อสื่อความหมายออกมาให้เป็นภาพได้อย่างครบถ้วน นับว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากพอสมควร ภาพทุกช่วงที่ปรากฏบนจอนอกจากจะสื่อความหมายให้เข้าใจ ยังจะต้องสร้างเสริมองค์ประกอบอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อสร้างบรรยากาศให้เกิดอารมณ์ จินตนาการ และช่วยดึงดูดให้ผู้ชมคล้อยตาม สนใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นสื่อที่ดีที่สุดไปยังผู้ชม
 
         ดังนั้น การถ่ายภาพเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ตามจะต้องมีหลักเกณฑ์ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ซึ่งสามารถจำแนกได้ ดังนี้

                  1.1  บทบาทของผู้ชม (Audience Role) สุทัศน์ บุรีภักดี (2528 : 263) กล่าวว่า ใน ขณะที่ชมรายการโทรทัศน์ ผู้ชมจะมีความรู้สึกต่อภาพที่ได้เห็น บางครั้งเหมือนกับว่าผู้ชมได้เข้าไปพัวพันกับเหตุ
การณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หรือมีอิริยาบทเกิดขึ้นในแบบซ่อนเร้นตามภาพต่าง ๆ     กำหนดมา เพื่อให้ผู้ชมมีความรู้สึกหันหน้าตามดูสิ่งนั้น ก้มหรือแหงนหน้ามองดู ความรู้สึกดังกล่าว เรียกว่า บทบาทของผู้ชม ที่ถูกกำหนดด้วยภาพนั่นเอง ซึ่งจะทำให้ผู้ชมเคลิบเคลิ้มติดตามชมอย่างราบรื่น เป็นความชาญฉลาดของผู้กำหนดภาพในการนำเสนอ

               1.2 การนำเสนอภาพรูปแบบแทนการได้เห็น (Objective Shot) เป็นลักษณะของการนำเสนอในรูปแบบแทนการได้เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นของผู้ชม โดยที่ตัวของผู้ชมเองไม่ได้มีส่วนร่วมกับเหตุ
การณ์นั้น ๆ ลักษณะของภาพที่ปรากฏเป็นแต่เพียงการแจ้งหรือบอกให้ผู้ชมได้ทราบว่าเกิดอะไร ที่ไหน เมื่อไร และใครเป็นผู้กระทำ ผู้ชมภาพมีความรู้สึกเหมือนมาสังเกตการณ์เท่านั้นการนำเสนอภาพในรูปแบบนี้เป็นการถ่ายภาพ เพื่อหวังผลเพียงการบันทึกเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่นิยมบันทึกภาพระยะไกล (Long Shot) ระยะปานกลาง (MediumShot) และภายระยะใกล้ (Close-up)

                1.3.การนำเสนอภาพ รูปแบบดึงผู้ชมเข้ามาพัวพันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Subjective Shot) เป็นวิธีการดึงผู้ชมเข้ามาร่วมในเหตุการณ์ของภาพในช่วงนั้น ๆ ตามแต่จะกำหนดให้ โดยใช้กล้องวางในตำแหน่งแทนสายตาของผู้แสดง ทำให้ผู้ชมเข้ามาพัวพันหรืออยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย

             1.4 การนำเสนอภาพรูปแบบการรับรู้อย่างใกล้ชิด (Point of View Shot) เป็นการกำหนดวิธีการถ่ายภาพ ซึ่งอยู่ในลักษณะระหว่างแทนการมองเห็นและการดึงผู้ชมเข้ามาพัวพันกับเหตุการณ์ โดยมากจะใช้กับฉากที่มีผู้แสดงกำลังสนทนากัน กล้องจะถ่ายผ่านไหล่ (Over The Shoulder) ของผู้แสดงคนหนึ่งไปยังหน้าของผู้แสดงอีกคนหนึ่งที่มองมายังทิศทางของผู้แสดงที่ถูกถ่ายผ่านไหล่ ภาพลักษณะนี้จะสร้างให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกได้อยู่ใกล้เหตุการณ์


     2.ขนาดของภาพ 

       จันทร์พิมพ์ สายสมร และวาสนา ทวีกุลทรัพย์ (2539 : 278) กล่าวว่า การกำหนดลักษณะขนาดของภาพ (Image Size) ในการถ่ายแต่ละช็อต (Shot) เพื่อบันทึกภาพ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ภาพเกิดภาษา มีความหมายยิ่งขึ้นเพื่อสื่อความหมายไปยังผู้ชม ช็อต (Shot) หมายถึง การกำหนดขอบเขตของภาพที่เป็นพื้นฐานทางภาพในการผลิตรายการโทรทัศน์ และ การจับภาพได้ขนาดไม่ถูกต้องในบางส่วน จะเป็นผลให้ความรู้สึกต่อเนื่องของผู้ชมขาดหายไป การกำหนดลักษณะขนาดภาพจำแนกได้ ดังนี้




               2.1. Extreme Close-Up (ECU) เป็นการจับภาพ เพื่อจะต้องการจะเน้นภาพให้เห็นรายละเอียดในการแสดงออกของผู้แสดงอย่างเด่นชัด จนสิ่งที่ถ่ายเป็นจุดเด่นเต็มจอโทรทัศน์แต่ ECU นี้จะไม่นิยมใช้กันนัก นอกเสียจากเป็นการแสดงออกที่พิเศษจริง ๆ เนื่องจากควบคุมภาพให้อยู่ในกรอบได้ยาก ผู้แสดงจะต้องอยู่นิ่ง ๆ จึงจะจับภาพได้

               2.2 Very Close - Up (VCU) การจัดภาพในลักษณะนี้ ต้องการจะเน้นความสำคัญของภาพ ซึ่งมีโอกาสใช้มากกว่า ECU การใช้กล้องจับภาพขนาดนี้ทำให้ความสำคัญของฉากหมดความสำคัญ อาจ
มองเห็นความบกพร่องบางประการของผู้แสดง เช่น ความไม่เรียบร้อยของการ Make - Up
                2.3 Big Close-Up (BCU) เป็นการใช้กล้องจับภาพเต็มหน้า ซึ่งใช้บ่อยครั้งกว่าทั้งสองประการที่กล่าวมา เพราะผู้ชมจะมองเห็นรายละเอียดสำหรับใบหน้าคนพอสมควร ซึ่งสามารถมองเห็นความรู้สึกบนใบหน้าได้

                2.4 Close-Up (CU) หมายถึง การจับภาพตั้งแต่ไหล่ขึ้นไปจนถึงศีรษะ ภาพลักษณะนี้ผู้ชมจะเห็นรายละเอียดส่วนหน้าพอสมควรแต่มีความชัดลึกน้อย ภาพด้านหลังจึงดูไม่ชัดเจน ภาพลักษณะนี้จะมุ่งเฉพาะการแสดงรายละเอียดของภาพ เพื่อให้ความรู้สึกว่าผู้ชมต้องการอยากดูอะไรบางอย่างใกล้ ๆ

                2.5 Medium Close-Up (MCU) หรือเรียกว่า Bust Shot จับภาพตั้งแต่ส่วนอกจนถึงศีรษะและมีที่ว่างตอนบนเล็กน้อย ภาพขนาดนี้ใช้กันมากจนอาจเรียกได้ว่าเป็นภาพปกติ จะเห็นได้จากรายการข่าว การสัมภาษณ์ หรือครูสอนทางโทรทัศน์
                2.6 Mid Shot (MS) หรือ Weist Shot จับภาพตั้งแต่เอวขึ้นไป หรือบางส่วนของ Back Ground จะมองเห็นได้ การจับภาพในลักษณะนี้ผู้แสดงจะสามารถเคลื่อนไหวไปมาได้กว้างขวางขึ้น เพราะมุมภาพกว้างและมีความชัดลึก บางครั้งอาจหมายถึงภาพ Two-Shot ซึ่งเป็นภาพถ่ายคนสองคน

               2.7 Knee Shot (KS) เป็นการจับภาพตั้งแต่เข่าขึ้นไป ภาพลักษณะนี้วัตถุที่ถ่ายจะมีขนาดเล็กลง และฉากหลังมีความสำคัญมากขึ้น

                2.8 Medium Long Shot (MLS) เป็นภาพที่มองเห็นได้เต็มตัว ใช้มากในการแสดงละคร การเคลื่อนไหวของผู้แสดงเป็นไปได้อย่างมีอิสระ เพราะมุมรับภาพจะกว้างจนเห็นเกือบเต็มทั้งฉาก โอกาสผู้แสดงออกนอกกรอบจึงมีน้อย บางครั้งเรียกว่า Full Shot
                2.9 Long Shot (LS) เป็นภาพที่สามารถใช้แสดงส่วนประกอบของฉากได้อย่างเต็มที่ เพื่อจะสร้าง Concept ให้แก่ผู้ชมตอนเริ่มรายการ ซึ่งเรียกว่า First Shot จึงเปลี่ยนไปเป็น Shot อื่น ๆ

               2.10.Extreme Long Shot (ELS) ภาพลักษณะนี้เพื่อต้องการให้เห็นความกว้างใหญ่ไพศาล เช่น ภาพทิวทัศน์ หุบเขา หรือท้องทุ่ง เพื่อนำมาใช้บอกสภาพของสถานที่ บรรยากาศ และสภาพทั่ว ๆ ไป ก่อนนำเข้าสู่ส่วนปลีกย่อย


3. มุมกล้อง

     
           3.1 ภาพมุมปกติ (Normal angle shot) คือการตั้งกล้องระดับเดียวกับสิ่งที่ถ่ายหรือระดับสายตาของผู้แสดง สื่อความหมายถึงความเรียบง่าย คุ้นเคย ใช้กับภาพทั่วๆไปเป็นมุมกล้องที่ใช้มากที่สุด ภาพอยู่ในระดับสายตาหรือบางทีเรียกภาพมุมระดับสายตา





          3.2 ภาพมุมต่ำ( Low angle shot) คือการตั้งกล้องระดับต่ำกว่าวัตถุหรือต่ำกว่าสิ่งที่ถ่าย หรือต่ำกว่าระดับสายตาของผู้แสดง สื่อความหมายถึงพลัง อำนาจความเข้มเเข็ง





          3.3 ภาพมุมสูง (high angle shot) คือการตั้งกล้องระดับสูงกว่าวัตถุหรือสุงกว่าสิ่งที่ถ่าย สื่อความหมายตรงข้ามกับภาพมุมต่ำ คือ ไร้พลัง ไร้อำนาจ อ่อนแอ ต่ำต้อย




             3.4 มุมวัตถุ (Objective )คือมุมของผู้ดู เป็นมุมภาพทั่วๆ ไปเหมือนภาพมุมปกติแทนสายตาของผู้ชมที่เป็นผู้สังเกตการณ์ ไม่มีส่วนร่วม เช่น ผู้ชมมองเห็นวัตถุ สถานที่ หรือมองเห็นตัวแสดงคุยกันเอง




          3.5 มุมแทนความรู้สึกผู้แสดง ตรงข้ามกับมุมวัตถุ(Subjective) คือ ภาพมุมมองของ ตัวแสดง เช่น ตำรวจเล็งปืนสอดส่ายตามองหาผู้ร้ายที่หลบอยู่ในลานจอดรถ จะเป็นภาพแทนสายตาของตัวแสดง คือภาพรถกวาดไปทีละคัน



          3.6 มุมข้ามไหล่ (Over Shoulder shot )คือการตั้งกล้องไว้ทางซ้ายหรือขวาของคู่สนทนาถ่ายเฉียงผ่านไหล่ของคู่สนทนา เห็นหน้าของคนที่แสดงหรือคนที่กำลังพูดแสดง โดยไม่มีไหล่และบางส่วนของศีรษะคู่สนทนาเป็นฉากหน้า ให้รู้ว่ากำลังคุยกับผู้อื่น และทำให้ภาพมีมิติมีความลึก






4. การเคลื่อนไหวของกล้อง
          การกำหนดการเคลื่อนไหวที่เกิดจากการทำงานของกล้องถ่ายโทรทัศน์ นับได้ว่าเป็นการ 
เปลี่ยนแปลงตำแหน่งของกล้องไปพร้อมกับการบันทึกภาพ และจะมีผลทำให้ภาพเปลี่ยนแปลง
ลักษณะภาพ รูปแบบ และเนื้อหาของการนำเสนอภาพไปด้วยการเคลื่อนไหวกล้องที่มีเหตุผล และมีความเชี่ยวชาญจะเป็นส่วนช่วยเสริมภาษาของภาพและผู้ชมเกิดบทบาทร่วมที่เป็นจริงมากขึ้นกับการนำเสนอภาพในช่วงนั้นการเคลื่อนไหวกล้อง

       มีหลักการขั้นพื้นฐานที่นำมาใช้ในการถ่ายภาพ 4 ประการ คือ

          การแพน เป็นวิธีการเคลื่อนที่กล้องถ่ายในลักษณะการส่ายกล้องเคลื่อนที่ไปในแนวนอนหรือแนวราบ (Herizontal) อาจเริ่มจากซ้ายไปขวา หรือจากขวาไปซ้ายก็ได้ วัตถุประสงค์ของการแพนกล้องอาจเกิดขึ้นได้จากวัตถุประสงค์ของการนำเสนอหลายประการ เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์หรือเกิดเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่ถ่ายสองสิ่งอยู่ห่างกัน หรือพื้นที่ของการถ่ายที่แยกอยู่ห่างกัน ซึ่งผู้ถ่ายภาพได้พิจารณาแล้วว่า ถ้าหากใช้วิธีการตัดภาพ (Cutting) 

         การซูม สามารถสามารถเปลี่ยนขนาดภาพขณะกำลังบันทึกภาพโดยไม่ต้องเคลื่อนไหว
กล้องหรือเปลี่ยนตำแหน่งการตั้งกล้อง ลักษณะการเปลี่ยนขนาดภาพถ้าเปลี่ยนจากภาพขนาดมุม
กว้างมาเป็นมุมแคบจะเรียกว่า Zoon in ถ้าตรงข้ามกันจะเรียกว่า Zoom out ผลที่เกิดในความ
รู้สึกของผู้ชม คือ จะรู้สึกว่าสิ่งที่ถ่ายถูกดึงเข้ามาใกล้ตัวหรือถอยห่างออกไป เกิดการเคลื่อนไหว
ขึ้นในภาพ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงขนาดของภาพอย่างต่อเนื่อง

        การทิลท์ (Tilting) เป็นการเคลื่อนไหวกล้องอีกลักษณะหนึ่ง เช่นเดียวกันกับการแพนแต่เป็นการแพนโดยวิธีการเคลื่อนกล้องในแนวดิ่ง วิธีการถ่ายภาพในแบบการทิลท์กล้องถ่ายยังคงรักษาระดับตำแหน่งความสูง - ต่ำ คงที่จะเปลี่ยนแปลงไปก็แต่เพียงมุมการบันทึกภาพเท่านั้น ที่ถูกขยับไปในองศาที่สูงขึ้นกว่าเดิม หรือองศาถูกกดต่ำกว่าเดิม ซึ่งกระทำได้โดยการกระดกกล้องถ่ายภาพขึ้นหรือค่อย ๆ กดกล้องให้มุมรับภาพลงต่ำในระหว่าการถ่ายทำถ้าหากในขณะที่ทำการถ่ายภาพผู้ถ่ายกระดกกล้องถ่ายภาพให้สูงขึ้นกว่าระดับเดิมจะโดยเหตุผลของการนำเสนอภาพเพื่อผลในการใดก็ตามดังที่กล่าวมาแล้วเรียกกันว่า ทิลท์-อัพ(Tilt-up) และในทางกลับกัน ถ้าหากกดกล้องให้มุมรับภาพค่อย ๆ เปลี่ยนในทิศทางที่ต่ำลงกว่าเดิม เรียกว่า ทิลท์-ดาวน์(Tilt Down)

         การดอลลี่ (Dollying) เป็นวิธีการเคลื่อนไหวกล้องในรูปแบบการตั้งอยู่บนพาหนะที่มีล้อซึ่งเคลื่อนไปมาบนพื้น หรือเลื่อนไปตามราง ทำให้สามารถเคลื่อนที่ตามภาพเหตุการณ์ได้ในมุมมองต่าง ๆ กัน เหมาะสำหรับการบันทึกภาพอย่างต่อเนื่องเป็นช๊อตยาวดอลลี่จะมีลักษณะการเคลื่อนกล้องเข้าหาสิ่งที่ถ่าย เรียกว่า ดอลลี่อิน(Dolly in) และถ้าเคลื่อนกล้องถอยห่างจากสิ่งที่ถ่าย เรียกว่า Dolly out

        การทรักต์ (Trucking or Tracking) เป็นการเคลื่อนไหวของกล้องในลักษณะและวิธีการเคลื่อนไหวในรูปแบบคล้ายกับดอลลี่ แตกต่างกันในเรื่องของการกำหนดทิศทางเท่านั้น ทิศทางของการทรักต์ จะใช้การเคลื่อนกล้องในแนวทางข้างเคียงสิ่งที่ถ่าย ในบางกรณี การเคลื่อนที่ของกล้องอาจไม่เป็นแนวตรงแต่จะเคลื่อนในลักษณะเฉียงโค้ง (Curve Track) ในบางครั้งการนำเสนอภาพในรูปแบบการทรักต์จะใช้การเคลื่อนที่ตามขนานกับสิ่งที่ ถ่ายอาจเป็นระดับการเคลื่อนไหวที่คู่เคียงกันไป หรือตำแหน่งของกล้องล้ำหน้า วัตถุเคลื่อนที  ตามนอกจากนี้แล้วยังนำมาใช้เพื่อการเปลี่ยนตำแหน่ง และทิศทางของกล้องเพื่อกำหนดรูปแบบ   ของการนำเสนอภาพในแนวทางใหม่ เป็นการหลีกเลี่ยงความซ้ำซากน่าเบื่อหน่ายของสิ่งที่ถ่าย
     ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก http://www.kmutt.ac.th/



การจัดองค์ประกอบของภาพ


4. องค์ประกอบ (Composition) ในการถ่ายภาพ

1. รูปทรง (Form) เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการถ่ายภาพ เหมาะสำหรับการถ่ายภาพ ทางสถาปัตยกรรม การถ่ายภาพวัตถุ หรือถ่ายภาพสิ่งต่างๆ เน้นให้เห็นรายละเอียดในลักษณะ 3 มิติ คือ ความกว้าง ความสูง ความลึก โดยให้เห็นทั้งด้านหน้าและด้านข้าง และความลึก





2. รูปร่าง (Shape) เป็นการจัดองค์ประกอบภาพตรงข้ามกับรูปทรง คือเน้นให้เห็นเป็นภาพ 2 มิติ คือ ความกว้างกับความยาว ไม่ให้เห็นรายละเอียดของภาพ หรือที่เรียกว่าภาพเงาดำ ภาพลักษณะนี้ เป็นภาพที่ดูแปลกตา น่าสนใจ ลึกลับ ให้อารมณ์และสร้างจินตนาการ ในการในการดูภาพได้ดี นิยมถ่ายภาพในลักษณะย้อนแสง ข้อควรระวังในการถ่ายภาพลักษณะนี้คือ วัตถุที่ถ่ายต้องมีความเรียบง่าย เด่นชัด สื่อความหมาย ได้ชัดเจน ฉากหลังต้องไม่มารบกวนทำให้ภาพนั้นหมดความงามไป



3. รูปแบบ (Pattern) เป็นการจัดภาพที่มีรูปร่าง ลักษณะที่คล้าย ๆ กันวางเป็นกลุ่ม เพื่อเน้นรูปแบบซ้ำซ้อน ทำให้ภาพดูสนุก สดชื่น และมีเสน่ห์แปลกตา



4. พื้นผิว (Texture) ลักษณะพื้นผิวของวัตถุมีอยู่มากมายหลายชนิด ให้ความรู้สึกสวยงามและเร้าอารมณ์ได้ต่างกัน เช่น ผิวของแก้ว ผิวของพื้นทราย ผิวของลายไม้ ผิวรอยเหี่ยวย่นของใบหน้า เป็นต้น การรู้จักเลือกลักษณะพื้นผิวประกอบในภาพให้เหมาะสม เช่น การจัดวัตถุผิวเรียบบนพื้นผิวที่ขรุขระ จะทำให้ภาพมีลักษณะที่ตัดกันมองเห็นวัตถุที่ผิวเรียบได้เด่นชัดขึ้น



5. ความสมดุลแบบปกติ (Formal Balance) เป็นการจัดองค์ประกอบภาพเพื่อให้ภาพดูนิ่ง สง่างาม น่าศรัทธา คล้ายกับแบบเน้นด้วยรูปทรง แต่จะแสดงออกถึงความสมดุลย์ นิ่ง ปลอดภัย ภาพลักษณะนี้อาจจะดูธรรมดา ไม่สะดุดตาเท่าใดนัก แต่ก็มีเสน่ห์และความงามในตัว





6. ความสมดุลแบบไม่ปกติ (Informal Balance) การจัดภาพแบบนี้ จะให้ความรู้สึกที่สมดุลย์เช่นเดียวกับแบบที่แล้ว แต่จะต่างกันอยู่ที่ วัตถุทั้งสองข้าง มีขนาดและรูปร่างที่แตกต่างกัน แต่จะสมดุลย์ได้ด้วยปัจจัยต่าง ๆ กัน เช่น สี รูปทรง ท่าทาง ฉากหน้า ฉากหลัง ฯลฯ ภาพดูน่าสนใจและแปลกตากว่าแบบสมดุลย์ที่เท่ากัน แต่ความรู้สึกที่มั่นคงจะ น้อยกว่า



7. กรอบ (Frame) แม้ว่าภาพถ่ายจะสามารถนำมาประดับ ตกแต่งด้วยกรอบภาพอยู่แล้ว แต่การจัดให้ฉากหน้าหรือส่วนประกอบอื่นล้อมกรอบจุดเด่น เพื่อลดพื้นที่ว่าง หรือทำให้สายตาพุ่งสู่จุดสนใจนั้น ทำให้ภาพกระชับ น่าสนใจ




8. ช่องว่าง (Space) เป็นการจัดพื้นที่ตำแหน่งของจุดสนใจในภาพให้มีความเหมาะสม เช่น แบบหันหน้าไปทางใดหรือเคลื่อนที่ไปทางใดก็ควรเว้นช่องว่างทางด้านนั้นให้มากกว่าอีกด้าน ซึ่งหากจัดไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัด แคบ เกิดขึ้นกับภาพได้




9. กฎสามส่วน (Rule of Thirds) เป็นการจัดภาพที่นิยมมากที่สุด ภาพดูมีชีวิตชีวา ไม่จืดชืด การจัดภาพโดยใช้เส้นตรง 4 เส้นตัดกันในแนวตั้งและแนวนอน จะเกิดจุดตัด4 จุด หรือแบ่งเป็น 3 ส่วน ทั้งแนวตั้งและแนวนอน การวางจุดสนใจของภาพจะเลือกวางใกล้ ๆ หรือ ตรงจุด 4 จุดนี้ จุดใดจุด หนึ่ง โดยหันหน้าของวัตถุไปในทิศทางที่มีพื้นที่ว่างมากกว่า ทำให้ภาพดูเด่น ไม่อึดอัด ไม่แน่น หรือหลวมจนเกินไป นักถ่ายภาพทั้งมืออาชีพ และมือสมัครเล่นนิยมจัดภาพแบบนี้มาก




10. น้ำหนักสี (Tone) วัตถุสิ่งของต่างๆ ในธรรมชาติจะมีน้ำหนักสี ค่าความเข้ม สว่าง ต่างๆ กัน ช่วยให้เกิดลักษณะความลึกของภาพ เช่น ทิวเขาที่สลับซับซ้อนกัน ที่อยู่ใกล้จะมีสีเข้ม ที่อยู่ไกลจะมีสีอ่อนลักษณะของภาพส่วนใหญ่ที่มีสีสว่างสดใส เรียกว่าภาพ High Key ให้ความรู้สึกอ่อนหวาน นุ่มนวล ส่วนลักษณะของภาพส่วนใหญ่ที่มีสีเข้ม มีเงามืด เรียกว่าภาพ Low Key ให้ความรู้สึกเข้มแข็ง ลึกลับ




11. ฉากหน้า ฉากหลัง (Foreground and Background)

· ฉากหน้า ส่วนใหญ่จะใช้ในการถ่ายภาพทิวทัศน์ หรือภาพอื่น ๆ ใช้ฉากหน้าเป็นตัวช่วยให้เกิดระยะ ใกล้ กลาง ไกล หรือมีมิติขึ้น ทำให้ภาพน่าสนใจอาจใช้กิ่งไม้ วัตถุ หรือสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้กับกล้องเพื่อช่วยเน้นให้จุดสนใจที่ต้องการเน้น มีความเด่นยิ่งขึ้น และไม่ให้ภาพมีช่องว่างเกินไป ข้อควรระวังคืออย่าให้ฉากหน้าเด่นจนแย่งความสนใจจากสิ่งที่ต้องการเน้น จะทำให้ภาพลดความงามลง

· ฉากหลัง พื้นหลังของภาพก็มีความสำคัญ หากเลือกที่น่าสนใจ กลมกลืน หรือช่วยให้สิ่งที่ต้องการ เน้นเด่นขึ้นมา ควรเลือกฉากหลังที่กลมกลืน ไม่ทำให้จุดเด่นของภาพด้อยลง หรือมารบกวนทำให้ภาพนั้นขาดความงามไป



12. เส้น (Line) เป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งในการจัดองค์ประกอบของภาพ สามารถบอกลักษณะโครงสร้างของภาพ เป็นตัวนำไปสู่จุดเด่น หรือจุดสนใจของภาพถ่าย เชื่อมโยงองค์ประกอบต่างๆ ในภาพ ให้ความรู้สึกต่างๆ เช่น มั่นคง นิ่งสงบ เคลื่อนไหว อ่อนช้อย เป็นต้น





13. ความลึก (Perspective) เป็นการใช้เส้นให้นำสายตาไปสู่จุดสนใจ เป็นการจัดภาพที่ใช้เส้นที่เกิดจากวัตถุ หรือสิ่ง อื่น ๆ ที่มีรูปร่างลักษณะใกล้เคียงกัน เรียงตัวกันเป็นทิศทางไปยังวัตถุที่เป็นจุดสนใจ ช่วยให้วัตถุที่ต้องการเน้นมีความ เด่นชัด และน่าสนใจยิ่งขึ้น





ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.kmitl.ac.th/agritech/nutthakorn/04091202/photo/com.html

หรือโหลดเป็นไฟล์ pdf http://www.cdoae.doae.go.th/54/infor/fik/jad-pap.pdf

ความรู้เกี่ยวกับกล้องโทรทัศน์

          กล้องโทรทัศน์เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คุณภาพของภาพที่ถ่ายโทรทัศน์จะดีหรือไม่ดีก็อยู่
ที่คุณภาพของกล้องโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นความคมชัด ความสดใสของสีสัน หรือแม้กระทั่งปริมาณ
ของสัญญาณรบกวน ล้วนเป็นผลจากกล้องโทรทัศน์ทั้งสิ้น

กล้องโทรทัศน์ คือ อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงสัญญาณภาพจากวัตถุที่อยู่นิ่งหรือเคลื่อน ไหวออกไปในรูปของสัญญาณไฟฟ้า

เพื่อให้ภาพของวัตถุนั้นปรากฏบนจอโทรทัศน์ ภาพที่เราเห็น
เคลื่อนไหวบนจอโทรทัศน์นั้นก็คือ ผลของการส่งและรับภาพนิ่งที่มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย
หลายภาพต่อหน่วยเวลา ลักษณะการทำงานของกล้องโทรทัศน์ก็คือ เมื่อเราถ่ายภาพหรือวัตถุที่เรา
ต้องการ แสงสีจากภาพหรือวัตถุนั้นจะสะท้อนเข้ามาที่เลนส์โดยที่แสงสีจากวัตถุนั้นมีความเข้มมาก
หรือน้อยไม่เท่ากันตามคุณลักษณะของวัตถุนั้น แสงสีที่ผ่านเข้าไปในเลนส์ของกล้องโทรทัศน์จะไป
กระทบกับหน่วยรับภาพ หน่วยรับภาพก็จะทำหน้าที่เปลี่ยนสัญญาณแสงให้เป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งไป
ยังเครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องรับโทรทัศน์ก็จะเปลี่ยนสัญญาณไฟฟ้าให้เป็นภาพเคลื่อนไหวได้บน
จอโทรทัศน์


ลักษณะและส่วนประกอบของกล้อง

กล้องโทรทัศน์มีลักษณะคล้ายกล้องถ่ายภาพยนตร์ ผิดกันที่ไม่มีม้วนฟิล์มภาพยนตร์เท่านั้น
โดยทั่วไปตัวกล้องจะห่อหุ้มด้วยโลหะที่มีน้ำหนักเบา ภายในประกอบด้วยวงจร อิเล็คทรอนิกส์ต่าง ๆ ติดยึดอยู่บนโครงตัวกล้อง

กล้องโทรทัศน์มีส่วนประกอบ 4 ส่วนดังนี้
1) เลนส์ (Lens)
2) ตัวกล้อง (Camera Head)
3) จอดูภาพ (Viewfinder)
4) แหล่งจ่ายไฟฟ้า (Power Supply)


หลักการทำงานของกล้องโทรทัศน์

          กล้องโทรทัศน์เป็นอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ผสมกับทางกล (Mechanic) เล็กน้อย การทำงานของ
กล้องจะกล่าวเรียงเป็นลำดับ ตั้งแต่จับภาพได้จนกระทั่งได้ผลออกมาเป็นสัญญาณภาพที่เรา
สามารถนำไปบันทึกเทปโทรทัศน์ หรือให้ปรากฏออกที่จอภาพได้ โดยในบทนี้จะกล่าวเป็นหัวข้อ
มีประมาณ 6 หัวข้อด้วยกัน พร้อมทั้งมีรูปภาพประกอบการอธิบายภาพ เพื่อให้เข้าใจความหมายได้
ดียิ่งขึ้น



วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2555

พัฒนาการของเทคโนโลยีโทรทัศน์

           โทรทัศน์เป็นสื่อมวลชนที่มีบทบาทและมีอิทธิพลมากในยุคปัจจุบัน เพราะวิวัฒนาการด้านโทรทัศน์สามารถครอบคลุมพื้นที่บริการ แพร่ภาพและเสียงได้พร้อม ๆ กัน ทำให้ผู้ชมได้ทราบข้อมูล ข่าวสาร เนื้อหาสาระ ความรู้ และความบันเทิงอย่างแพร่หลายและรวดเร็ว จากการวิจัยพบว่า โทรทัศน์สามารถปลูกฝังความเชื่อถือ ทัศนคติ และค่านิยมต่าง ๆ ได้อย่างคงทน เนื่องจากโทรทัศน์เป็นสื่อที่ทรงพลังนี้เอง


          นักการศึกษาจึงได้นำเอาโทรทัศน์มาใช้เพื่อเป็นสื่อสารประชาสัมพันธ์ พัฒนาการศึกษาในด้านต่าง ๆ เช่น ใช้กับการเรียนการสอนที่มีผู้เรียนจำนวนมาก ๆ ในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ยังใช้ในกรณีที่ขาดแคลนครูที่มีความเชี่ยวชาญการเฉพาะวิชา ใช้เป็นเครื่องมือในการรณรงค์หรือใช้เพื่อปรับปรุงระบบการเรียนการสอนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชั้นก่อนวัยเรียนจนถึงอุดมศึกษา ทั้งในการศึกษาในระบบหรือนอกระบบ และการจัดการศึกษาระบบทางไกล ซึ่งสามารถออกอากาศในระบบวงจรปิดหรือวงจรเปิดก็ได้
ประวัติความเป็นมาของโทรทัศน์

     พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของโทรทัศน์ไว้ว่า


โทรทัศน์ เป็นกระบวนการถ่ายทอดเสียงและภาพได้พร้อมกันจากที่หนึ่งเป็นยังอีกที่หนึ่ง โดยวิธีเปลี่ยนคลื่นเสียงและภาพให้เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกสู่อากาศ เรียกเครื่องที่มีหน้าที่นี้ว่าเครื่องส่งโทรทัศน์ เรียกเครื่องที่มีหน้าที่เปลี่ยนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ได้รับจากเครื่องส่งโทรทัศน์ให้กลับไปเป็นคลื่นเสียงและภาพตามเดิมว่า “เครื่องรับโทรทัศน์”

       หลังจากการค้นพบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในอากาศ จนสามารถนำคลื่นนั้นมาใช้ในการสื่อสารและการกระจายเสียง ทำให้เกิดวิทยุกระจายเสียงขึ้น นักวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ ก็ได้คิดคำนึงขึ้นมาว่า ในเมื่อสามารถจับเอาเสียงออกอากาศได้ ทำไมจะจับภาพมาเข้าเครื่องส่งออกอากาศบ้างไม่ได้ ดังนั้นการทดลองเกี่ยวกับโทรทัศน์มีมาราวศตวรรษที่ 18 เมื่อมีการส่งสัญญาณโทรคมนาคมทางอากาศด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และการทดลองเริ่มปรากฏเป็นจริงเมื่อ แอนดรู เมย์ (Andrew May) เจ้าหน้าที่โทรเลขชาวไอริช ได้ค้นพบสารเซเลเนียม ซึ่งมีคุณสมบัติในการเปลี่ยนแปลงพลังงานแสงให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้ จนในปี พ.ศ. 2437 ได้มี นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ พอล นิปโคว์ (Paul Nipkow) ได้ค้นพบเครื่องมือกวาดภาพ ปรากฏบนจอได้ ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นการเกิดโทรทัศน์ในปัจจุบัน


    จากทฤษฎีของ พอล นิปโคว์ มีนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียที่โอนสัญชาติเป็นอเมริกัน ชื่อ ดร. วี.เค. ซวอริคิน (Dr. V.K. Zworykin) ได้ค้นพบหลอดจับภาพสู่จอที่สมบูรณ์ขึ้น โดยเรียกว่า ไอโคโนสโคป (Inonoscope) และมีนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ จอห์น โลยี แบร์ดได้ทำการทดลองจนสามารถจับภาพเข้าเครื่องส่งออกกาศมาปรากฎบนจอได้สำเร็จ แต่ในการส่งโทรทัศน์ได้อย่างสมบูรณ์เป็นครั้งแรกของโลกเริ่มที่สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2469 ซึ่งเป็นการส่งเสียงและภาพไปพร้อม ๆ กันไปยังเครื่องรับที่อยู่ไกลถึง 30 ไมล์ และต่อมาก็สามารถส่งสัญญาณโทรทัศน์ไปตามสายเคเบิลจากนิวยอร์กถึงวอชิงตัน ระยะทาง 280 ไมล์ ในขณะเดียวกันที่ประเทศอังกฤษสามารถส่งภาพจากลอนดอนถึงเมืองกลาสโลว์ ระยะทาง 340 ไมล์


สถานีโทรทัศน์ บีบีซี (BBC : British Broadcasting Corporation) แห่งอังกฤษเริ่ม

ดำเนินการแพร่ภาพโทรทัศน์ออกสู่ประชาชนเป็นสถานีแรกของโลก พิธีเปิดการแพร่ภาพเริ่มขึ้น

ที่พระราชวังอเล็กซานดร้า ในกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2479 ขณะที่ทั่ว

ประเทศอังกฤษมีเครื่องรับโทรทัศน์ประมาณ 100 เครื่อง


 ต่อมาก็มีการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ที่สหรัฐอเมริกา คือ สถานีเอ็นบีซี (NBC : National Broadcasting Company) เพื่อถ่ายทอดคำปราศรัยของประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ เนื่องในโอกาสงานมหกรรมแสดงสินค้า นานาชาติที่นิวยอร์ค คณะบริหารสถานีโทรทัศน์ NBC พยายามผูกขาดกิจการโทรทัศน์ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงได้เกิดการก่อตั้งสถานี CBS : Columbia Broadcasting Companyและสถานี ABC (American Broadcasting Company) ความนิยมโทรทัศน์ได้แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว 



       ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเซียอาคเนย์ที่ดำเนินกิจการโทรทัศน์พัฒนาการด้านโทรทัศน์ในประเทศไทย
      
          เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2495 กรมโฆษณาการ หรือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบันได้ออกคำชี้แจงเรื่องการใช้ศัพท์ Television ในภาษาไทย คำว่า Tele แปลว่า “ไกล” หรือ “โทร” Vision แปลว่า “ภาพ” ดังนั้นจึงควรแปล Television ว่า
     “โทรภาพ” ดังที่มีผู้ใช้คำว่า “โทรทรรศ์” นั้นไม่ถูกต้อง เพราะน่าจะตรงกับคำว่า Telescopeหรือกล้องส่องทางไกลมากกว่าแต่ประชาชนไทยทั่วไปก็ยังนิยมที่จะเรียกว่า “โทรทัศน์” เปลี่ยนการสะกดจาก “ทรรศ์” เป็น “ทัศน์” เสียใหม่ และคำว่าโทรทัศน์นี้ก็ใช้กันมาจนปัจจุบัน เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่เรียกว่าโทรทัศน์ เพราะได้มีวิวัฒนาการของการส่งภาพทางระบบโทรคมนาคมเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Telepicture ซึ่งตรงกับคำว่า โทรภาพพอดี โทรภาพนี้เป็นการส่งภาพนิ่งจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง และต่อมาได้มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษกันต่าง ๆ ตามที่บริษัทเจ้าของระบบอุปกรณ์จะเรียก เช่น Radiophoto หรือ Telephoto และแม้แต่ Telex ก็สามารถส่งภาพได้ ดังนั้นคำว่าโทรทัศน์ ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของทางราชการในสมัยแรกเริ่มจึงกลายเป็นคำถูกไปโดยปริยายในระยะต่อมา แต่โทรทัศน์ในระบบกระจายเสียง (Broadcasting) ควรจะเรียกให้เต็มตามศัพท์ทางราชการว่า “วิทยุโทรทัศน์” เหมือนกับที่เราเรียก “วิทยุ” ในคำเต็มคือ “วิทยุกระจายเสียง” คำว่า “วิทยุโทรภาพ” เป็นอีกคำหนึ่งที่มีใช้กันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 โดยพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงบัญญัติขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้ประชาชนยังนิยมเรียกว่า “โทรทัศน์”

     ประวัติของวิทยุโทรภาพในประเทศไทย มีระบุไว้ในหนังสือที่ระลึกงานพิธีเปิดอาคารที่ทำการใหม่ของกรมไปรษณีย์โทรเลข (ที่ทำการ ปณ.กลาง ในปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ. 2483 คำว่า วิทยุโทรภาพหรือวิทยุจำลองภาพ ได้ติดต่อกับเยอรมันนี เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2474 ใช้เครื่องของบริษัท Telefunken สามารถรับ – ส่งภาพขนาด 10  22 ซ.ม. ได้ 1 ภาพ ในเวลา 15 นาที ภาพนี้จะเป็นเอกสาร ภาพเขียน หรือภาพถ่ายก็ได้ ภาพวิทยุโทรภาพครั้งแรก คือ พระรูปกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน การใช้วิทยุโทรภาพตามลักษณะดังกล่าวไม่ได้เปิดให้บริการแก่สาธารณะ เข้าใจกันว่าค่าใช้จ่ายในการส่งภาพคงสูงมาก และไม่มีความจำเป็นในการใช้บริการดังกล่าว สำหรับวิทยุโทรภาพ หรือที่เรียกว่า วิทยุโทรทัศน์ในปัจจุบัน มีความเป็นมาเท่าที่ควรทราบดังต่อไปนี้ 




       รัฐบาลในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ลงมติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2494 เห็นสมควรให้จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นด้วยเล็งเห็นคุณประโยชน์ และเพื่อให้เยาวชนได้มีความรู้กว้างไกล จึงได้มอบเรื่องให้กรมประชาสัมพันธ์พิจารณาดำเนินการ ขอตั้งงบประมาณในการตั้งสถานีส่งและจำหน่ายเครื่องรับด้วย กรมประชาสัมพันธ์เสนอยอดเงินไป 12 ล้านบาทเศษ รัฐบาลจึงนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรปรากฏว่าถูกยับยั้งมิให้ดำเนินการอ้างว่าเปลืองเงินงบประมาณโดยใช่เหตุ เมื่อทางฝ่ายรัฐบาลต้องระงับความดำริไป ประชาชนบางกลุ่มเห็นคุณค่าของโทรทัศน์ และก็มีข่าวว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียที่เริ่มดำเนินการติดตั้งสถานี และออกอากาศ ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2494 จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นบริษัทขึ้นเพื่อดำเนินการโดยไม่ต้องใช้เงิน งบประมาณแผ่นดิน คือ “บริษัทไทยโทรทัศน์จำกัด” มี พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ เป็นประธานกรรมการ มีพลโท ม.ล.ขาบ กุญชร อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นรองประธานกรรมการ และนายประสงค์ หงสนันท์ เป็นกรรมการผู้จัดการ ดำเนินการตั้งบริษัท ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2495 ผู้มีบทบาทสำคัญในการนำโทรทัศน์เข้ามาเป็นครั้งแรก คือ นายประสิทธิ์ ทวีสิน ประธานกรรมการบริษัทวิเชียรวิทยุและโทรภาพ โดยนำเครื่องส่ง 1 เครื่อง เครื่องรับ 4 เครื่อง หนักกว่า 2 ตัน ทำการทดลองให้คณะรัฐมนตรีชมเป็นครั้งแรกที่ทำเนียบรัฐบาล และต่อมาเมื่อ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เปิดให้ประชาชนชมที่ศาลาเฉลิมกรุง ได้มีผู้ชมอย่างล้นหลามด้วยเป็นของแปลกใหม่

     การก่อสร้างสถานีโทรทัศน์ที่บางขุนพรหมสำเร็จเรียบร้อย บริษัทไทยโทรทัศน์ จึงส่งออกอากาศทางช่อง 4 เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นวันชาติไทย จึงนับเป็นชาติแรกในเอเชียอาคเนย์ที่มีโทรทัศน์ออกอากาศให้ประชาชนได้ชม ความนิยมของประชาชนที่มีต่อรายการโทรทัศน์ แพร่ขยายอย่างรวดเร็ว ดังนั้นทางราชการทหารได้ตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นที่สนามเป้า ถนนพหลโยธิน เปิดทำการเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2501 ซึ่งตรงกับวันกองทัพบก




     ในปี พ.ศ. 2503 กรมประชาสัมพันธ์ได้สร้างสถานีโทรทัศน์ และจัดออกอากาศขึ้นในภูมิภาค 3 สถานี คือ สถานีโทรทัศน์จังหวัดขอนแก่น สถานีโทรทัศน์จังหวัดลำปาง และสถานีโทรทัศน์จังหวัดสงขลา

     ในปี พ.ศ. 2510 บริษัทกรุงเทพวิทยุโทรทัศน์ ขอจัดตั้งสถานีในเครือของกองทัพบก ช่อง 7 ระบบ 625 เส้น เปิดออกอากาศวันที่ 25 พฤศจิกายน อันเป็นวันวชิราวุธ ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 กรมประชาสัมพันธ์อนุญาตให้บริษัทบางกอกเอนเตอร์เทนเมนท์ จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง อยู่ในเครือของช่อง 4 เดิม ออกอากาศทางช่อง 3 ระบบ 625 เส้นและในปีเดียวกันสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 ก็เปลี่ยนเป็นระบบ 625 เส้น ออกอากาศทาง ช่อง 9 และต่อมาช่อง 7 เดิมของกองทัพบกก็เปลี่ยนเป็น 625 เส้น ออกอากาศทางช่อง 5



     นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 เป็นต้นมา สถานีโทรทัศน์ในกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย  ช่อง 3, 5, 7, 9 และ 11 พยายามขยายเครือข่ายการส่งออกอากาศโดยใช้ระบบดาวเทียม และระบบไมโครเวฟภาคพื้นดิน เพื่อถ่ายทอดการออกอากาศไปยังสถานีโทรทัศน์ส่วนภูมิภาคของประเทศไทย สามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ได้ทั่วถึงกันหมด นับเป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านโทรทัศน์ที่สำคัญยิ่ง

ระบบโทรทัศน์


   


    โทรทัศน์ในโลกนี้มีหลายระบบ มีความแตกต่างกันในเรื่องระบบไฟฟ้า เช่น ทางยุโรปใช้ไฟฟ้า 220 โวลต์ 50 เฮิรตซ์ แต่ทางอเมริกาใช้ระบบไฟฟ้า 110 โวลต์ 60 เฮิรตซ์ เพราะจำนวนภาพที่ปรากฏบนจอเท่ากับครึ่งหนึ่งของความถี่ไฟฟ้าจึงได้ภาพที่นิ่งที่สุด


1. ระบบเอ็นทีเอสซี (NTSC : National Television System Committee) เป็นระบบ 525 เส้น เกิดภาพ 30 ภาพต่อวินาที เป็นโทรทัศน์สีระบบแรกของโลก สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ค้นคิด และใช้ในสหรัฐอเมริกา

2. ระบบพอล (PAL : Phase Alternation Line) เป็นระบบ 625 เส้น เกิดภาพ 25 ภาพต่อวินาที เยอรมันเป็นผู้คิดค้น นิยมใช้กันมากในยุโรป ออสเตเลีย และไทย

3. ระบบเซกัม (SECAM : Sequential Couleur A Memoire) เป็นระบบเหมือนกับระบบ PAL ฝรั่งเศสเป็นผู้ค้นคิดระบบแพร่ภาพและเสียงของโทรทัศน์

  • ระบบการแพร่ภาพและเสียงของโทรทัศน์ สามารถจำแนกได้ ดังนี้

1. ระบบโทรทัศน์วงจรเปิด (Open-Circuit Television) เป็นระบบที่เครื่องส่งและเครื่องรับไม่ได้ต่อสายถึงกัน ใช้ส่งและรับสัญญาณผ่านอากาศโดยอาศัยคลื่นวิทยุเป็นพาหะ




        1.1 ระบบ VHF (Very High Frequency) เป็นระบบที่มีย่านความถี่ ระหว่าง30-300 เมกะเฮิรตซ์ ในการออกอากาศ มี 12 ช่อง คือช่อง 1-12 โดยแยกเป็น Low Band ใช้กับช่อง 2-4 คือ ช่อง 3 และ High Band ใช้กับช่อง 5-12 ได้แก่ ช่อง 5 , 7 , 9 และ11

       1.2 ระบบ UHF (Ultra High Frequency) เป็นระบบที่มีย่านความถี่ ระหว่าง300-3,000 เมกะเฮิรตซ์ ในการออกอากาศ ใช้กับช่อง 20-69 เช่น ITV ใช้ช่อง 26

2.ระบบโทรทัศน์วงจรปิด (Closed-Circuit Television : CCTV) หรือโทรทัศน์ตามสาย เป็นระบบโทรทัศน์ที่ส่งภาพและเสียงตามสายเคเบิลจากเครื่องส่งไปยังเครื่องรับแทน การออกอากาศ

3. ระบบโทรทัศน์ทางสายเคเบิล (Cable Television : CTV) หรือเคเบิลทีวี เป็นการส่งสัญญาณโทรทัศน์ทางสายเคเบิล โดยส่งรายการโทรทัศน์จากสถานีโทรทัศน์หลัก หรือสถานีย่อยไปตามสายเคเบิลสู่กลุ่มผู้ชมทางบ้านโดยคิดค่าบริการจากผู้ชม จึงนิยมเรียกระบบนี้ว่า Pay As You See TV โทรทัศน์ระบบนี้มีประโยชน์มากในชุมชนที่มีพื้นที่เป็นภูเขา หรืออยู่ในหุบเขา ซึ่งยากที่จะรับสัญญาณโทรทัศน์ที่ส่งออกอากาศ

4.ระบบโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม (Television Satellite) ดาวเทียมเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารในการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ โดยการยิงสัญญาณจากสถานีโทรทัศน์บนภาคพื้นดินขึ้นสู่ดาวเทียม และดาวเทียมจะทวนสัญญาณมาสู่สถานีรับสัญญาณภาคพื้นดิน และสถานีนี้จะส่งออกอากาศบริการแก่ชุมชนในพื้นที่อีกทอดหนึ่ง ทำให้พื้นที่เป้าหมายกว้างขวางตามปริมาณของสถานีรับสัญญาณจากดาวเทียม เช่น การแพร่ภาพได้ทั่วประเทศของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3, 5, 7, 9 และช่อง 11 ในปัจจุบันนิยมเรียกว่า ระบบ C-Band และพัฒนาเป็นระบบ Ku-Band คือ สามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ที่ส่งโดยตรงจากดาวเทียม ระบบการส่งสัญญาณโดยตรงจากดาวเทียมสู่ผู้รับ (Direct Broadcast Satellite : DBS) ผ่านทางจานรับสัญญาณบนหลังคาบ้านที่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 1 ฟุตเท่านั้นการเผยแพร่รายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษาและฝึกอบรมในการเผยแพร่รายการเพื่อการศึกษาและฝึกอบรม สามารถทำได้หลายวิธีการด้วยกัน ตามการพัฒนาเทคโนโลยีด้านโทรทัศน์ 



      1. ระบบส่งออกอากาศ การเผยแพร่ในลักษณะนี้ต้องอาศัยสถานีโทรทัศน์ อาจจะโดยการเช่าเวลาของสถานีโทรทัศน์เพื่อการค้า (Commercial Television) ที่มีอยู่ทั่ว ๆ ไปหรือการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาขึ้นมาโดยตรง โรงเรียน สถาบันการศึกษา ผู้เรียนหรือผู้ชม จะต้องอยู่ในรัศมีของการออกอากาศจึงรับชมได้ และจะต้องจัดเวลาเรียนให้สัมพันธ์กับเวลาออกอากาศชม แต่ปัจจุบันนี้ หากมีเครื่องบันทึกเทปโทรทัศน์ก็สามารถบันทึกรายการไว้ก่อน และนำมาชมในภายหลังได้ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องของเวลา

    2. ระบบส่งตามสาย การส่งรายการแบบนี้สามารถทำได้สองลักษณะ คือ การทำเป็นรายการสด เช่น การทดลองทางวิทยาศาสตร์ แล้วใช้กล้องโทรทัศน์ถ่ายทอดส่งสัญญาณ ไปตามสายเพื่อไปยังเครื่องรับภาพ สำหรับผู้ชมที่นั่งด้านหลัง หรือไปยังห้องเรียนอื่น ๆ หรือใช้เทปโทรทัศน์ที่จัดทำไว้เรียบร้อยแล้วถ่ายทอดไปยังห้องเรียนต่าง ๆ นอกเหนือจากการส่งไปตามสายในสถานศึกษาแล้ว ยังอาจส่งไปตามบ้านเรือนในลักษณะเดียวกันนี้ได้

  3. ระบบห้องสมุด รายการการศึกษาหรือฝึกอบรมต่าง ๆ จะได้รับการจัดทำเก็บไว้ในรูปของเทปโทรทัศน์หรือแผ่นบันทึกภาพ เก็บไว้อย่างเป็นระบบในรูปของห้องสมุดผู้ศึกษาสามารถยืมมาชมได้ ทั้งในห้องสมุดนั้นมีโต๊ะเรียนรายบุคคลพร้อมเครื่องเล่นเทปโทรทัศน์ ให้เข้าชมได้เลย หรือการยืมออกไปศึกษาที่บ้าน

  4. ระบบเทปโทรทัศน์เคลื่อนที่ ในระบบนี้จะใช้รถพร้อมเครื่องบันทึกเทปโทรทัศน์เครื่องรับภาพขนาดใหญ่ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งมักจะเรียกว่า Mobile Unit รถนี้จะเคลื่อนที่ไปยังชุมชนต่าง ๆ พร้อมด้วยเทปโทรทัศน์ที่เหมาะสมกับความสนใจของท้องถิ่นนั้น ๆ ระบบนี้จะช่วยส่งเสริมการฝึกอบรมในท้องถิ่นได้อย่างรวดเร็วและจริงจัง